จั่งซุ้ย
แร่ดีบุกเป็นทรัพยากรหลักที่สำคัญมากที่สุดของภูเก็ตมาไม่ต่ำกว่า 100 ปี การคุดค้นหาแร่ดีบุกได้พัฒนามาจากการเก็บหาแร่บนพื้นผิวดินไปเป็นเหมืองรู เหมืองแล่น เหมืองหาบ เหมืองสูบ เหมืองฉีด หรือเหมืองเรือขุด จนเป็นแพดูดแร่ในท้องทะเลที่ค่อนข้างลึก
ในช่วงที่เหมืองหาบกำลังเป็นที่นิยมเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา รรมกรชาวจีนจำนวนมากได้เข้ามาภูเก็ตเป็นกุลีเหมืองหาบและได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบรรพชนภูเก็ต
ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีฝนตกชุก ยิ่งเมื่อป่าไม้อุดมสมบูรณ์ไม่มีวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมอย่างปัจจุบัน ในฤดูฝนภูเก็ตจึงมีฝนตกชุกระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน กรรมกรเหมืองต้องตรากตรำฝนเป็นระยะนานหลายเดือน จึงได้มีผู้คิดทำเสื้อกันฝนที่คงทนต่อการทำงานในเหมืองโดยใช้เส้นใยจากโคนกาบต้นชก ที่ชาวบ้านเรียกเรียก “รกชก” มาเย็บเป็นเสื้อกันฝน และเรียกเสื้อกันฝนนี้ว่า จั่งซุ้ย มีใช้กันมากในเหมืองเขตอำเภอกะทู้ ลูกหลานที่เห็นคุณค่าได้เก็บรักษาจั่งซุ้ยไว้และเห็นว่าจะมีประโยชน์ต่อคนอื่นๆ จึงได้นำมาถวายวัดพระทอง เมื่อ พ.ศ. 2529 จำนวน 1 ชุด เป็นจั่งซุ้ยที่มีความกว้างระหว่างปลายแขนซ้ายและขวาเท่ากับระยะคอถึงชายจั่งซุ้ย ด้านล่างประมาณ 36 นิ้ว นับเป็นจั่งซุ้ยที่สมบูรณ์ที่สุดในภูเก็ตปัจจุบันได้เก็บไว้ให้ชมที่พิพิธภัณฑ์วัดพระทอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น