วัดฉลองหรือวัดไชยธาราราม |
วัดฉลองหรือวัดไชยธาราราม
วัดไชยธารารามชื่อเดิมว่า วัดฉลอง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2360 ต่อมาได้ เปลี่ยนชื่อเป็น วัดไชยธาราราม วัดนี้มีมาตั้งแต่สมัยใด ไม่ปรากฏหลักฐาน บ้างก็สัณนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยชาวบ้านที่หลบหนีภัยสงครามพม่าที่เข้าตีเมืองถลาง เดิมทีวัดนี้ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศเหนือของวัด ซึ่งมีหลักฐานปรากฏคือ พระพุทธรูปเก่าแก่ที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อเจ้าวัด หรือพ่อท่านนอกนาการย้ายวัดมาตั้งในที่ปัจจุบันนั้นได้ย้ายมาในสมัยของ พ่อท่านเฒ่า ซึ่งเป็นอาจารย์วิปัสสนาของ หลวงพ่อแช่ม (พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี) และได้เป็นเจ้าอาวาส จนถึง พ.ศ. 2451 พ่อท่านช่วง (พระครูกิจจานุการ) ได้ เป็นเจ้าอาวาสจนถึง พ.ศ. 2488 ต่อมา พ่อท่านเกลื้อม (พระครูครุกิจจานุการ) ได้เป็นเจ้าอาวาสต่อมา จนถึง พ.ศ.2522 และเจ้าอาวาสวัดฉลององค์ปัจจุบัน คือพ่อ ท่านหลิม
วัดฉลองเป็นวัดที่มีชื่อเสียงในสมัยพ่อท่านแช่ม ในคราว กบฏอั้งยี่ซึ่งเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2419 ชาวบ้านได้รับกำลังใจ จากท่าน โดยการได้รับผ้าประเจียดให้โพกศีรษะคนละผืน จนสามารถสู้กับพวกอั้งยี่ได้และยอมแพ้ไปในที่สุด
จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ท่านได้รับพระราชทาน สมณศักดิ์ เป็นพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี ตำแหน่ง สังฆปาโมกข์ เมืองภูเก็ต และทรงพระราชทานนาม วัดฉลองเป็นวัดไชยธาราราม วัดฉลองเป็นวัดที่มีชื่อเสียง เพราะความเคารพศรัทธาในพ่อท่านแช่มและมักนิยมบนบานให้หายเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านเป็นพระที่มีคนมาติดทองที่ตัวท่านตั้งแต่สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่
ท่านยังรับรักษาผู้ป่วยเกี่ยวกับกระดูก เช่น กระดูกหัก กระดูกเคลื่อน โดยการต่อกระดูกจนเป็นที่เลื่องลือของชาวภูเก็ตและ จังหวัดใกล้เคียง ส่วนไม้เท้าของท่านยังมีอานุภาพ สามารถจี้ปาน ฝี ต่างๆ ทำให้อาการต่างๆไม่ลุกลาม และหายไปในที่สุด ไม้เท้าของท่านยังได้ใช้รักษาผู้ป่วย จากทั่วสารทิศมาจนถึงทุกวันนี้
นอกจากหลวงพ่อแช่มแล้ว ที่วัดฉลองยังมี หลวงพ่อช่วง และ หลวงพ่อเกลื้อม ที่ชาวบ้านเคารพ ศรัทธาเลื่อมใสเช่นกัน โดยนอกจากความศักดิ์สิทธิแล้ว ท่านทั้งสองยังมีชื่อเสียง ทางด้าน การปรุงสมุนไพร และรักษาโรคด้วย ดังนั้นแม้ท่านได้มรณภาพไปแล้ว ชาวบ้านที่มีเรื่อง ทุกข์ร้อน ก็ยังคงมากราบไหว้ บนบานไม่ขาดสาย
-->
การเดินทาง
อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 8 กิโลเมตร ออกจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 4021 ผ่านสามแยกบริเวณสนามกีฬาสุรกุล เลี้ยวซ้ายไปทางห้าแยกฉลอง วัดฉลองจะอยู่ทางซ้ายมือก่อนถึงห้าแยกฉลองประมาณ 4 กิโลเมตรแผนที่
ดู วัดฉลอง ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น